วันเสาร์ที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2551

การพัฒนาชนบท

โครงการพัฒนาชนบทในระยะแรกนั้น สาระสำคัญของโครงการนั้น จะเกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาต่างๆ ให้แก่ราษฎรทั้งสิ้น เพื่อส่งเสริมให้เกิดการกินดีอยู่ดี โดยได้ทรงศึกษาและหาวิธีแก้ไขปัญหาด้วยพระองค์เอง โครงการพัฒนาชนบทที่อาจนับได้ว่าเป็นโครงการแรกนั้น คือ โครงการสร้างถนนเข้าไปยังห้วยมงคล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยได้พระราชทานรถบูลโดเซอร์ ให้ค่ายนเรศวรไปใช้ในการดำเนินการ พระองค์ทรงเห็นว่า ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม และประชาชนประมาณร้อยละ ๘๐ อยู่ในสาขาเกษตรกรรม และส่วนมากจะเป็น ชาวไร่ชาวนาที่ยากจน ฉะนั้นการแก้ไขปัญหาจึงทรงเน้นในเรื่อง เกษตรกรรม โดยทรงเริ่มศึกษาเรื่องการเกษตร ในบริเวณสวนจิตรลดา และปัจจุบันก็ยังทรงทำการศึกษาอยู่ โดยจะเน้นในเรื่องของข้าวและพืชตระกูลถั่ว นอกจากนี้ ยังทรงริเริ่มโครงการ "พัฒนาที่ดิน" โดยการจัดสรรที่ดินทำกินให้กับราษฎร โดยที่ทรงเห็นว่า สาเหตุสำคัญ ประการหนึ่ง ที่ทำให้ชาวไร่ชาวนาตกอยู่ในสภาพที่ล้าหลัง คือการขาดแคลนที่ดินทำกิน หรือมีที่ดินไม่เพียงพอกับ การทำมาหากิน ตลอดจนถึงการขาดแคลนปัจจัยต่างๆ ที่ใช้ในการผลิต จึงทรงมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมฐานะความเป็นอยู่ ของเกษตรกรเหล่านั้น ให้สามารถพึ่งตนเองได้ ซึ่งถ้าทำสำเร็จและกระจายไปได้ทั่วประเทศแล้ว ประเทศไทยก็จะ มีความมั่นคงโดยรวมด้วย โครงการทดลองต่างๆในสวนจิตรลดา นอกจากเพื่อเป็นการเก็บรวบรวมข้อมูลต่างๆแล้ว ยังมีพระมหากรุณาธิคุณให้เป็นแหล่งเผยแพร่ความรู้แก่ผู้ที่สนใจอีกด้วย ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๐๕ เป็นต้นมา ทรงริเริ่ม ที่จะมีแนวพระราชดำริในการพัฒนาประเทศที่สำคัญ ๒ ประการ๑. การพึ่งตนเอง ทรงเน้นการพัฒนาที่มุ่งสร้างความเข้มแข็ง ให้แก่ทุกชุมชนในลักษณะการพึ่งตนเอง ซึ่งทรงใช้คำว่า การระเบิดจากข้างใน หมายความว่า ทำให้ชุมชนแข็งแรงก่อน แล้วค่อยขยายออกมาสู่สังคมภายนอก มิใช่เป็นการเอาความเจริญจากสังคมภาย นอกเข้าไป ในขณะที่ชุมชนไม่มีโอกาสเตรียมตัว การสร้างความแข็งแรงให้ชุมชนนั้น ทรงเน้นโครงสร้างพื้นฐานซึ่งก็คือ แหล่งน้ำ ดังพระราชดำรัสที่พระองค์ ท่านทรงประทานแก่ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงาน โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) ว่า "...หลักสำคัญว่าต้องมีน้ำบริโภคน้ำใช้ น้ำเพื่อการเพาะปลูก เพราะว่าชีวิตอยู่ที่นั่น ถ้ามีน้ำคนอยู่ได้ ถ้าไม่มีน้ำคนอยู่ไม่ได้ ไม่มีไฟคนอยู่ได้ แต่ถ้ามีไฟฟ้าไม่มีน้ำ คนอยู่ไม่ได้..." กล่าวอีก นัยหนึ่ง แนวทางนี้เป็นการพัฒนาในลักษณะมุ่งเตรียมชุมชนให้พร้อมต่อการติดต่อสัมพันธ์ กับโลกภายนอกอย่างเป็นขั้นตอน ๒. การส่งเสริมความรู้สมัยใหม่และการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม พระองค์ทรงมีพระราชดำรัสอยู่เสมอว่า โครงการของพระองค์นั้น ที่แท้จริงแล้ว ไม่ใช่โครงการพัฒนาที่มีลักษณะพิเศษ อย่างที่เข้าใจกัน แต่เป็นโครงการที่มุ่งช่วยเหลือแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่ประชาชนประสบอยู่ โดยที่จะมุ่งแก้ไขปัญหาใน จุดที่มีความต้องการแก้ไขอย่างรีบด่วน ซึ่งประชาชนไม่สามารถรอได้ ในเรื่องนี้พระองค์ทรงมีพระราชดำริชัดเจนว่า "เราต้องถือจิตวิทยา ต้องไปเร็วที่สุด"พระองค์ทรงเห็นว่าสิ่งที่ชาวชนบท ส่วนใหญ่ยังขาดแคลนก็คือ เรื่องความรู้ในการ ทำมาหากิน การทำการเกษตรโดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ เรื่องนี้ทรงเน้นถึง ความจำเป็นที่จะต้องมี "ตัวอย่างของความ สำเร็จ" ในเรื่องของการพึ่งตนเอง โดยมีพระราชประสงค์ให้ราษฎรนำเอา ตัวอย่างนี้ไปปฏิบัติได้เองและนำไปปฏิบัติ อย่างแท้จริง ตัวอย่างของเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่พระองค์ทรงมีพระราชดำริให้คิดค้นขึ้นมา เช่น ฝนหลวง ฯลฯ แต่พระองค์ ทรงย้ำว่า การที่จะบรรลุถึงเป้าหมายข้างต้นนั้นจะต้องมีวิธีการปฏิบัติดังนี้ ๑. การพัฒนาโดยยึดปัญหาและสภาพแวดล้อมของแต่ละพื้นที่เป็นหลัก โดยเฉพาะทรงให้ความสำคัญกับความกระตือรือร้นของคนในพื้นที่ รวมทั้งปัญหาและความต้องการของเขาเหล่านั้นมากเป็นพิเศษ ๒. การรวมกลุ่มประชาชนเพื่อแก้ปัญหาหลักของชนบท ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญประการหนึ่งของการพัฒนาพึ่งตนเอง โดยเฉพาะการรวมตัวกันในรูปสหกรณ์ โดยทรงเน้นเสมอถึงความจำเป็นที่จะต้องกระตุ้นให้เกิดการรวมตัวกันในรูปแบบ ต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาที่ชุมชนเผชิญอยู่ร่วมกัน หรือเพื่อให้การทำมาหากินของชุมชนดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ ๓. การพัฒนาจะต้องทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทรงมีพระราชดำริอยู่เสมอว่า ชุมชนควรจะพึ่งตัวเองในเรื่องของอาหารก่อนแล้วค่อยก้าวไปสู่การพัฒนาด้านอื่นๆ

ไม่มีความคิดเห็น: